ติดเครดิตบูโรกู้ได้ (ตอนที่ 1)

ติดเครดิตบูโรกู้ได้  (ตอนที่ 1)

   มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีประวัติการเงินไม่ค่อยดี ไปจนกระทั่งถึงขั้นมีเครดิต "เลวร้าย" มีชื่อติด "บัญชีดำ" (Black list) โดยสถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อรายงานข้อมูลไปยัง "เครดิตบูโร" ไม่ว่าจะด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เหตุผลความจำเป็นไม่ตั้งใจจะไม่จ่าย หรือถูกแรงบีบรัดทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ จนเกิดหนี้ค้างชำระเป็น "ตัวแดง" ผลที่ตามมา.. ผู้ขอกู้มักจะไม่ได้รับการ "อนุมัติ" ปล่อยกู้จาสถาบันการเงิน เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องขอใช้บริการเงินกู้จากสถาบันการเงินในครั้งใหม่ ..แต่ผิดนัดชำระแบบไหน ถึงเรียกว่าเข้าเขต "อันตราย" ที่แบงก์จะไม่อนุมัติปล่อยกู้ หรือมีชื่อใน "บัญชีดำ" !!  "แบงก์จะพิจารณาประวัติย้อนหลังของผู้ขอกู้ว่า ปัจจุบันมีหนี้ค้างชำระหรือไม่ อาจจะบอกไม่ได้ว่าผิดนัดชำระกี่งวดถึงจะติดแบล็คลิสต์ แต่การที่ผู้กู้ค้างชำระหนี้ติดต่อกันหลายงวด เช่น 6-7 รอบบัญชี ขณะที่มียอดหนี้จำนวนมาก ย่อมบ่งชี้ได้ว่าผู้ขอกู้มีปัญหาทางการเงินแล้ว ฉะนั้น ผู้ขอกู้จึงไม่ควรผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 รอบจะดีที่สุด" "นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์" ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ "เครดิตบูโร" กล่าว ทางที่ดี การรักษาประวัติการชำระหนี้ที่ดีต่อเนื่องระยะยาวมากๆ ย่อมเป็นผลดีต่อเครดิตการเงินของผู้กู้ เพื่อจะได้ไม่ถูกปฏิเสธสินเชื่อ  "ประวัติการชำระหนี้ที่ดี ยิ่งยาวยิ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ขอสินเชื่อ เพราะหากผู้ขอกู้ผิดนัดชำระ 1-2 งวด แบงก์อาจมองว่าไม่ได้มีปัญหาทางการเงิน แต่อาจลืมจ่ายค่างวด ทำให้ไม่ถูกปฏิเสธสินเชื่อใหม่ และยังเป็นการสร้างเครดิตการเงินที่ดีในระยะยาวให้แก่ตัวเองอีกด้วย"  นิวัฒน์บอกว่า การที่ผู้กู้มีชื่อและข้อมูลการชำระหนี้ในเครดิตบูโร ไม่ได้หมายความว่าจะต้องติดแบล็คลิสต์
แต่การอนุมัติให้สินเชื่อหรือไม่ เป็นหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์เป็นผู้พิจารณา โดยแบงก์พาณิชย์จะพิจารณาการให้สินเชื่อจากการเรียนรู้พฤติกรรมการชำระหนี้ของลูกค้าระยะยาว เครดิตบูโรไม่มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลและขึ้นแบล็คลิสต์  "ยังมีผู้บริโภคบางส่วนเข้าใจการทำงานของเครดิตบูโรไม่ถูกต้อง ยิ่งเมื่อถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน มักจะคิดว่าติดปัญหาแบล็คลิสต์จากเครดิตบูโร ซึ่งความจริงแล้ว ข้อมูลที่เครดิตบูโรรวบรวมเป็นข้อมูลประวัติการชำระหนี้ส่วนหนึ่งที่สถาบันการเงินนำไปใช้ประกอบการพิจารณาให้เงินกู้เท่านั้น" นิวัฒน์กล่าว ส่วนระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลการเงิน ซึ่งเป็นข้อมูลการเงินของผู้กู้ที่แบงก์ส่งมายังเครดิตบูโรจะถูกจัดเก็บไว้เป็นระยะเวลา 36 เดือน หรือ 3 ปี โดยแบงก์พาณิชย์ บริษัทไฟแนนซ์ หรือนอนแบงก์ จะรายงานข้อมูลเครดิตไปยังผู้ใช้สินเชื่อบุคคลทั่วไป (เป็นข้อมูลเดียวกันกับที่ส่งให้กับเครดิตบูโร) ทุกปีๆ ละครั้ง ซึ่งในใบรายงานจะประกอบด้วย 2 ส่วน.. 
      ส่วนแรก..จะบอกข้อมูลส่วนตัวทั่วไป และคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน เป็นต้น 
      ส่วนที่สอง.. จะเป็นรายละเอียดประวัติการขอสินเชื่อ การได้รับอนุมัติสินเชื่อ ตลอดจนการชำระสินเชื่อทุกประเภท เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น.....พบกันต่อใน ติดเครดิตบูโรกู้ได้ (ตอนที่ 2)


แท็กซ์:ติดเครดิตบูโรกู้ได้, แบล็คลิสต์, เครดิตบูโร, ติดแบล็คลิสต์,ปัญหาติดแบล็คลิสต์,รายงานข้อมูลเครดิต,สถาบันการเงิน,บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ,ติดแบล็คลิสต์แต่อยากจะกู้เงินทำอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น