แนวทางพิจารณาให้สินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ

แนวทางพิจารณาให้สินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ


       แนวทางพิจารณาให้สินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ
       แนวความคิดนี้เป็นแนวทางหลักๆ ที่สถาบันการเงินต่างๆ จะต้องนำไปคิด นำไปประกอบก่อนที่จะอนุมัติการกู้เงินให้กับผู้ที่ต้องการจะขอกู้เงินกับสถาบันการเงินนั้นๆ แต่ก็อย่างที่บอกครับ แนวคิดนี้เป็นแบบกว้างๆ ธนาคารหรือสถาบันการเงินทุกแห่งก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อย แยกออกไปอีกบ้าง ซึ่งผู้ที่กำลังจะขอสินเชื่ออาจจะกังวลใจว่า หากยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน จะได้รับการอนุมัติหรือไม่ มาดูกันเลยว่าสถาบันการเงินใช้ข้อมูลอะไรในการพิจารณาให้สินเชื่อ
     1.ข้อมูลส่วนตัวของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งประกอบด้วย ชื่อ-นามสกุล เพศ สถานภาพสมรส อาชีพ รายได้ หลักทรัพย์ที่มีแหล่งที่อยู่อาศัย ภาระหนี้ และประเภทหนี้ ตลอดจนวัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ ซึ่งผู้ขอสินเชื่อต้องกรอกตามความเป็นจริงในใบสมัครขอสินเชื่อ
      2.ประวัติการขอสินเชื่อ และประวัติการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ  หรือที่เรียกว่าข้อมูลเครดิต โดยสถาบันการเงินจะตรวจสอบข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (อันนี้กลัวกันมาก กลัวการติดแบล็คลิลต์)
     3.นโยบายการให้สินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงิน เช่น ต้องการบุกตลาดสินเชื่อรายย่อย รายกลาง SME หรือรายใหญ่ เป็นต้น ตลอดจนเครื่องมือ วิธีการและขั้นตอนการพิจารณาสินเชื่อที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถาบันการเงิน
     4.ปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น สภาวะเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น ซึ่งอาจส่งผลต่ออาชีพของผู้ขอสินเชื่อ หรือเงื่อนเวลาในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อได้
     ถ้าหากผู้ขอสินเชื่อเป็นผู้มีอาชีพการงานดี รายได้มั่นคง ไม่เคยมีหนี้สินล้นพ้นตัว มีความสามารถในการชำระหนี้  การขอสินเชื่อก็คงไม่ติดปัญหาอะไร หรือหากมีอาชีพการงานไม่มั่นคง เช่น ขายของแผงลอย โอกาสการได้เงินกู้ยังคงมีอยู่  แต่จำนวนเงินกู้ที่ได้รับคงน้อยกว่าที่ต้องการขอสินเชื่อ และอาจต้องจ่ายดอกเบี้ยในจำนวนที่แพงขึ้นข้อมูลของผู้ขอสินเชื่อมีความสำคัญในการพิจารณาให้สินเชื่ออย่างมาก ดังนั้น ผู้ขอสินเชื่อจึงควรเตรียมเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนก่อนไปติดต่อขอสินเชื่อ เพื่อที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการจะได้ไม่เสียเวลาขอหลักฐานเพิ่มเติมในกรณีที่ผู้ขอสินเชื่อแสดงเอกสารไม่เพียงพอหรือไม่น่าเชื่อถือ
  มาถึงเราบ้าง ผู้กู้ต้องมีการเตรียมตัวในเรื่องใดบ้าง เอกสารประกอบการขอกู้
นั่นคือสิ่งจำเป็น โดยผู้ขอสินเชื่อ (ผู้ขอกู้) ควรเตรียมเอกสาร ดังนี้
    1.เอกสารแสดงรายได้ของผู้ขอสินเชื่อ ตามที่สถาบันการเงินร้องขอ เช่น หากป็นผู้มีรายได้จากงานประจำ แสดงหลักฐานสลิปเงินเดือนล่าสุด หรือที่เป็นปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นเป็นเจ้าของกิจการ แสดงหลักฐานการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝากของกิจการ หรือของตนเอง ย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน หรือสมุดลงบัญชีรายรับ-รายจ่ายของกิจการ ใบคำสั่งซื้อสินค้าและ/หรือใบส่งของ ใบสั่งสินค้าจากลูกค้า ใบแสดงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
    2.บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน  
    3.หลักฐานอื่น ๆ ที่สถาบันการเงินร้องขอ เช่น เอกสารแสดงหลักประกัน หนังสือรับรองการจดทะเบียนหุ้นส่วน/บริษัท สำเนาใบแสดงภาษีเงินได้ งบการเงินของกิจการปีล่าสุดฉบับยื่นกรมสรรพากร  เป็นต้น 
     สำหรับผู้ประกอบธุรกิจครอบครัว ร้านค้า หรือร้านแผงลอย ที่ไม่มีหลักฐาน เช่น บัญชีรายรับ-รายจ่ายหรือใบเสร็จต่าง ๆ นั้น ก็ยังมีโอกาสที่จะได้รับสินเชื่อ เพราะสถาบันการเงินบางแห่งมีความถนัดที่จะทำธุรกิจกับลูกค้ารายย่อย หรือกับผู้ประกอบกิจการขนาดเล็ก เช่น อาจส่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อไปสังเกตการณ์ ณ ที่ร้านค้าแผงลอยของผู้ขอสินเชื่อ เพื่อประเมินความสามารถในการหารายได้ของผู้ขอสินเชื่อ โดยพิจารณาจากจำนวนลูกค้าที่มาซื้อของในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นต้น
  ก็หวังว่าคงเป็นประโยชน์บ้างนะครับ แต่........อย่าก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นดีกว่าครับ





แท็กซ์ : แนวทางพิจารณาให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน,กู้เงิน,สินเชื่อสถาบันการเงิน,แนวทางการให้กู้เงิน,สินเชื่อ,ข้อมูลเครดิต,เครดิต,แบล็คลิสต์,เอกสารประกอบการกู้เงิน,วิธีพิจารณาการอนุมัติกู้เงิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น