เครดิตบูโรบล็อกแจ้งข่าวดี ลูกหนี้มีเฮ หลังชมรมปฏิรูปสิทธีลูกหนี้ เสนอ คสช. ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งระบบ




เครดิตบูโรบล็อกแจ้งข่าวดี ลูกหนี้มีเฮ หลังชมรมปฏิรูปสิทธีลูกหนี้ เสนอ คสช. ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งระบบ
ทีแรกคิดว่าเป็นแค่ข่าวลือ แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นเรื่องจริง เครดิตบูโรบล็อกก็เลยขอแจ้งข่าวดี ลูกหนี้มีเฮ หลังชมรมปฏิรูปสิทธีลูกหนี้ เสนอ คสช. ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งระบบ โดยคุณ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ได้รับรู้และร่วมแสดงความคิดเห็นมาด้วย วันนี้เครดิตบูโรบล็อก ก็เลยมาแจ้งข่าว ซึ่งอย่างน้อยตอนนี้ผมก็มองว่าเป็นสัญญาณเริ่มต้นของข่าวดีสำหรับคนมีหนี้ คือ อย่างน้อยก็มีคนคิด และเสนอเรื่อง ส่วนจะได้หรือไม่ได้ตามที่เสนอ ก็คงต้องรอต่อไป สำหรับรายละเอียดถ้ามีข่าวดีๆ เป็นประโยชน์สำหรับวงการเครดิตบูโร ผมไม่พลาดจะมานำเสนอให้ทุกท่านได้ทราบอย่างแน่นอน (หากไม่อยากพลาดข่าวสาร แนะนำสมัครรับข่าวสารกับทางเครดิตบูโรบล็อกได้เลยครับ) รายละเอียดของข่าวแจ้งว่า
ชมรมปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ เปิดเผยว่า ทางกรรมการและผู้แทนของชมรมต้องการเสนอให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนลูกหนี้รายย่อย ทั้งที่เป็นหนี้นอกระบบ และในระบบ โดยมีข้อเสนอ ดังนี้ 
ข้อเสนอที่ 1.ขอให้มีศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service Center) เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานที่ช่วยเหลือต่างฝ่ายต่างทำ และไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จจึงแก้ไขปัญหาไม่ได้
ความคิดเห็นของ คุณ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) : เห็นด้วยอย่างยิ่งและควรนำบทเรียนหลังปี 2540 ที่เราเคยมีองค์กรแบบนี้มาคิดเพิ่ม
ความคิดเห็นเครดิตบูโรบล็อก : เห็นด้วย แต่เรื่องหน่วยงานที่ช่วยเหลือ ผมยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม เป็นลักษณะใครเจอปัญหาก็แก้ไขด้วยตนเอง อาจใช้วิธี ปรึกษากันเองบ้าง ผู้ที่เคยเจอปัญหาแบบเดียวกัน/คล้ายๆกัน ปรึกษา/จ้าง ทนาย บ้าง ภาครัฐยังไม่มีส่วนร่วมในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาแต่อย่างใด
ข้อเสนอที่ 2.ควรมีการจัดตั้งศาลเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันมีคดีเกี่ยวกับการฟ้องร้องหนี้จำนวนมาก
ความคิดเห็นของ คุณ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) : ไม่เห็นด้วย เพราะเราควรใช้ระบบปัจจุบัน ประเด็นอยู่ที่การจัดการ ไม่ใช่เรื่องไม่มีองค์กรชี้ขาด ประการต่อมา คือ ระดับความทัดเทียมในการรู้เรื่องกฏหมายระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ จะต้องคิดให้มากว่า จะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันเกินไปหรือไม่
ความคิดเห็นเครดิตบูโรบล็อก : ไม่เห็นด้วยในเรื่องการจัดตั้งศาลเศรษฐกิจ แต่ เห็นควรจะมีหน่วยงานที่มีความรู้ในเรื่องกฏหมายมาช่วยเหลือลูกหนี้ กรณีเกิดปัญหา
ข้อเสนอที่ 3.แก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ ทั้งการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฏหมายกำหนด รวมทั้งขอให้ยกเว้นการบังคับใช้กฏหมาย ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ซึ่งจะทำให้เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์ค้ำประกันเพื่่อชำระหนี้แล้ว ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบหนี้ที่ยังเหลืออยู่
ชี้แจ้งข้อกฏหมายเล็กน้อยครับ "มาตรา 733   ถ้าเอา ทรัพย์จำนองหลุด และ ราคา ทรัพย์สิน นั้น มีประมาณ ต่ำกว่า จำนวนเงิน ที่ค้างชำระกันอยู่ ก็ดี หรือถ้า เอา ทรัพย์สินซึ่งจำนอง ออกขายทอดตลาด ใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิ น้อยกว่า จำนวนเงิน ที่ค้างชำระกันอยู่นั้น ก็ดี เงินยังขาดจำนวน อยู่เท่าใด ลูกหนี้ ไม่ต้องรับผิด ในเงินนั้น
อ่านกรณีตัวอย่าง ทั้งๆ ที่กฏหมายระบุชัดเจนไม่ต้องชำระ แต่ทำไมธนาคาร หรือสถาบันการเงินไม่ทำ ที่ ==>> เครดิตบูโรบล็อกกับ มาตรา 733
ความคิดเห็นของ คุณ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) : ไม่เห็นด้วยในเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยเพราะถ้าไปฝืนกลไกการตลาด จะเท่ากับไปไล่คนที่อยากให้บริการ เพราะไม่คุ้มกับความเสี่ยง สำหรับเรื่องการขายทอดตลาดนั้น เห็นด้วย ว่าเมื่อขายแล้วเป็นอันจบ ไม่มีการตามหนี้ที่เหลืออยู่ ก็คือ ขายทรัพย์ที่ยืดมาแล้ว หนี้ทั้งหมดเป็นอันจบกัน
ความคิดเห็นเครดิตบูโรบล็อก : ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย ผมก็เข้าใจคนให้กู้ เพราะมันคือธุรกิจ จึงต้องหวังในกำไร แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า "อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด" คำถามคือ ดอกเบี้ยที่กฏหมายกำหนด มันเหมาะสมจริงเหรอ มันเป็นธรรมกับลูกหนี้และเจ้าหนี้หรือไม่ ผมมองว่าสาระสำคัญมันอยู่ตรงนี้มากกว่า ส่วนประเด็นยืดทรัพย์ไปแล้ว ขายทอดตลาด แล้วหนี้ทั้งหมดเป็นศูนย์ เห็นด้วยนะ ผมเอารถคุณมาโดยเงินผ่อนนะ ผ่อนไม่ไหวคุณมายืดรถของคุณคืนไป เราไม่มีหนี้ต่อกันแล้วนะ (ส่วนเรื่องค่าความเสื่อมหรือปัญหาอื่นๆ เจ้าหนี้คงต้องคิดหาวิธีบริหารเอง)
ข้อเสนอที่ 4.จัดการเจ้าหนี้นอกระบบอย่างเด็ดขาด
ความคิดเห็นของ คุณ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) : เห็นด้วยและอยากให้มีโทษถึงประหารชีวิต ยืดทรัพย์ และไม่มีอายุความ
ความคิดเห็นเครดิตบูโรบล็อก : เห็นด้วยครับ อยางที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้  คสช. ก็กำลังจัดการกับผู้ที่มีอิทธิพล ซึ่งบางรายก็มีการปล่อยกู้ ดอกเบี้ยโหด ซึ่งเป็นหนี้นอกระบบ แต่ผมว่าปัญหาที่แท้จริง คือ คนเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ จึงต้องไปกู้เงินนอกระบบ ..ไม่เช็คแบล็คลิส..ไม่ต้องใช้เครดิตบูโร...ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า จะหาแหล่งเงินทุนและหลักเกณฑ์อะไรมาใช้พิจารณาสินเชื่อสำหรับคนเหล่านั้นมากกว่าจะไปจัดการคนที่ปล่อยกู้ ถ้ามีสถาบันการเงินปล่อยกู้ในระบบ ดอกเบี้ยต่ำ เรื่องอะไรจะต้องไปกู้นอกระบบ ดอกเบี้ยแพงๆ จริงมั้ยครับ
ข้อเสนอที่ 5.จัดตั้งไม่โครไฟแนนซ์ เพื่อให้ช่วยเหลือดูแลคนในชุมชน ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 7% ต่อปี เนื่องจากปัจจุบันมีประชากรจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินที่ถูกกฏหมาย ทำให้ต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งเสียดอกเบี้ยสูงมาก ประมาณ 20-30% ทำให้ลูกหนี้ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นวงจรการเป็นหนี้ได้
ความคิดเห็นของ คุณ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) : ไม่เห็นด้วยในเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ย ตามข้อ 3 แต่เห็นด้วยในเรื่องการจัดตั้งส่งเสริมให้มีไมโครไฟแนนซ์ เพื่อให้ช่วยเหลือดูแลคนในชุมชน
ความคิดเห็นเครดิตบูโรบล็อก : เห็นด้วย แต่ต้องพิจารณาอัตราดอกเบี้ยให้มาก เพราะเป็นไฟแนนซ์ชุมชน อัตราดอกเบี้ยไม่ควรจะพิจารณาจากเศรษฐกิจภาพรวมของทั้งประเทศ

ข้อเสนอที่ 6.นิรโทษการเป็นหนี้โดยตัดหนี้สูญ ไม่ฟ้องล้มละลายหนี้ส่วนที่ยังชำระไม่หมด
ความคิดเห็นของ คุณ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) : ไม่เห็นด้วย เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา แต่ถ้าเป็นลักษณะขูดรีด ค้ากำไรบนความทุกข์ยากของเพื่อนมนุุษย์ ก็ต้องใช้มาตรการตามข้อ 3 และ 4 ประกอบกับ 5 มาดำเนินการข้างต้น
ความคิดเห็นเครดิตบูโรบล็อก : ไม่เห็นด้วย ตามที่คุณสุรพลกล่าว มีหนี้ก็ต้องใช้หนี้ เอาเงินคนอื่นมาใช้ สุดท้ายก็คงต้องคืนอยู่ดี แต่ถามว่าถ้าไม่ไหวจริงๆ จะทำอย่างไร ความคิดเห็นส่วนตัว ผมอยากให้มีการจัดตั้งกองทุน โดยใช้เงินจากดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน (ผมมองว่ายังไงๆ สถาบันการเงินก็ได้กำไรเยอะอยู่แล้ว เพียงแค่สละมาซักเล็กน้อยเท่านั้นเอง) โดยมีคณะกรรมการ คือ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และภาครัฐ เข้ามาดูแล วัตถุประสงค์คือ จะใช้เงินจากกองทุนตรงหนี้ไปชำระแทนสำหรับผู้ที่ไม่ไหวจริงๆ ทั้งนี้ก็ให้คณะกรรมการพิจารณาเหตุผลเป็นรายๆ ไป
ข้อเสนอที่ 7. เร่งให้ความรู้กับประชาชนด้านการเงิน ให้มีวินัยทางการเงินและไม่สร้างภาระหนี้เกินตัว
ความคิดเห็นของ คุณ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) : เห็นด้วย เพราะ เราจะทำอย่างไร เราจะลดวัฒนธรรม ที่ทำให้เกิดการเป็นหนี้ อย่างที่ในบทความของท่านผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า 3 สิ่งนี้ ต้องจัดการออกไป  1 ก่อร่างสร้างหนี้ 2 หน้าใหญ่ไร้เงินออม 3 ซื้อของโดยไม่ดูความคุ้มค่า และนำเอาค่านิยมของคนโบราณมาใช้ที่กล่าวว่า "ฝากออมสิน ฝังดินไว้ ใช้หนี้เก่า ให้เขากู้ ทิ้งสู่เหว..."
ความคิดเห็นเครดิตบูโรบล็อก : ให้เหตุผลไว้ดีมากๆ ครับ โดยเฉพาะ ....3 สิ่งนี้ ต้องจัดการออกไป  1 ก่อร่างสร้างหนี้ 2 หน้าใหญ่ไร้เงินออม 3 ซื้อของโดยไม่ดูความคุ้มค่า และนำเอาค่านิยมของคนโบราณมาใช้ที่กล่าวว่า "ฝากออมสิน ฝังดินไว้ ใช้หนี้เก่า ให้เขากู้ ทิ้งสู่เหว..."  เครดิตบูโรบล็อกไม่มีความเห็น นอกจาก .... เห็นด้วยอย่างที่สุดครับ


เครดิตบูโรบล็อกฝากไว้เล็กน้อยครับ สำหรับท่านใดต้องการเสนอแนะ หรือมีความคิดเห็นอย่างอื่น ช่วยเพิ่มความคิดเห็นเข้ามาเยอะๆ นะครับ ไม่แน่นะครับ คณะ คสช. กำลังอ่านบทความนี้ แล้วเกิดไอเดียและคล้อยตามเรา (คนเป็นหนี้) ก็เป็นได้ 555 แต่ถ้าจะดีมากช่วยแชร์ ช่วยเสนอความคิดเห็นกันให้มากๆ หน่อยนะครับ ตัวผมเองคิดว่ามันให้ประโยชน์กับสังคมคนมีหนี้มาก ขอบคุณสำหรับการแชร์ และแสดงความคิดเห็นล่วงหน้า ....เครดิตบูโรบล็อก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น